ประวัติความเป็นมาของตำบล ตามคำบอกเล่าของคนผู้สูงอายุ เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปี มาแล้วนั้นเดิมบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นป่าพื้นที่ราบลุ่ม มีหนองน้ำใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง อุดมไปด้วยปลาชุกชุมและหนองน้ำนี้มีต้นจิกอยู่หลายต้น ได้มีผู้มาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่สันนิษฐานว่ามาจากทาง ทิศตะวันออกแถบแม่น้ำท่าจีน มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้คุ้มบ้านสระในปัจจุบันซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ดอน สมัยก่อนเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมไม่ถึงและเมื่อถึงสมัย กำนันกล่ำ
ประมาณพ.ศ.๒๔๕๕ กำนันกล่ำกับชาวบ้านได้ร่วมกันขุดลอกหนองน้ำนี้จนเป็นสระน้ำใหญ่และต่อมาได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านสระ” และเมื่อถึงสมัย กำนันวงษ์ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้ทำการขุดสระอีกโดยเอาต้นจิกออกจนหมด หมู่บ้าน บ้านสระเป็นแหล่งที่ อุดมสมบูรณ์จึงมีประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้อพยพมาอยู่เป็นหมู่ใหญ่ โดยใช้ชื่อหมู่บ้านสระ ต่อมาได้มีการตั้งเป็น “ตำบลบ้านสระ” และใช้เรียกกันมาจนทุกวันนี้
สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในท้องถิ่น
ประวัติความเป็นมาของวัดลาดสิงห์
วัดลาดสิงห์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากอำเภอสามชุก และพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ประมาณด้านละ 7 กิโลเมตร ตามทำเนียบวัดและโบราณสถานจังหวัดสุพรรณบุรีระบุว่า วัดลาดสิงห์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๙ อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยารวมระยะเวลาที่นับจากปีที่ตั้งวัดแล้ว เป็นเวลาถึง 538 ปี
ตามตำนานของวัดได้กล่าวไว้ว่าหลังจากที่สมเด็จพระเนศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ และทราบว่าพระสุพรรณกัลยาพระพี่นางที่เป็นองค์ประกัน อยู่ที่กรุงหงสาวดี ถูกประหารชีวิตด้วยพระแสงดาบของพระเจ้านันทบุเรง เป็นการล้างแค้นที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงของ้าวของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงเสด็จมาบูรณะปฏิสังขนณ์วัดลาดสิงห์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระสุพรรณกัลยา และได้ยกฐานะวัดลาดสิงห์เป็นพระอารามหลวงในสมัยนั้น
จากคำเล่าขานของคนเก่าแก่ในหมู่บ้านเล่าว่า เดิมวัดลาดสิงห์มีชื่อว่า วัดราชสิงห์ ซึ่งหมายความถึงสิงห์ของพระราชา ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นวัดลาดสิงห์มาเป็นเวลาช้านาน และมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าสถานที่บริเวณวัดลาดสิงห์นี้ เคยเป็นที่พักทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งแต่เดิมภายรอบบริเวณวัดมีสระน้ำรายรอบเป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันได้ทำการถมที่ดินไปมากเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย) ในการเดินทัพมาครั้งนั้นได้มีพนักงานกองเสบียงอาหารเดินทางติดตามมาด้วย ส่วนมาเป็นชาวลาวเวียงจันทร์ ปัจจุบันนี้ยังมีอาศัยอยู่ด้านตะวันตกของวัด มีชื่อเรียกว่า “หมู่บ้านลาว” คำบอกเล่าครั้งสุดท้ายที่เล่าสืบต่อกันมาหลายอายุคนนี้เป็นของนางจัน พลายระหาญ อายุ ๙๖ ปี ซึ่งเป็นลูกหลานชาวเวียงจันทร์โดยกำเนิด ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว
ปัจจุบันวัดลาดสิงห์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี มีชาวสุพรรณบุรีและประชาชนทั่วไปจำนวนมาก เดินทางมากราบนมัสการหลวงพ่อดำ และถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็ดพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ที่วัดลาดสิงห์อย่างไม่ขาดสาย
สถานที่สำคัญภายในวัด
1.พระอุโบสถ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านนอกมีใบเสมาหินทรายอยู่ตามทิศต่างๆ เป็นใบเสมาแบบเรียบไม่มีลวดลาย ด้านนอกสุดมีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบ มีทางเข้าเฉพาะด้านหน้า โดยเป็นกำแพงแก้วเดิมที่ยังไม่มีการบูรณะซ่อมแซม ภายนอกกำแพงแก้วมีเนินดินปนอิฐขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า อาจเป็นเจดีย์ตั้งอยู่ แต่มีเพียงฐานล่างที่พักทลายจนไม่ทราบรูปทรง ด้านบนมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายขาย พระเพลาแตกหักวางกองอยู่ จนรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฎเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา
ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหินทราย หน้าตักกว้างประมาณ ๖ ศอก ชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อดำ” (เรียกตามพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือ พระองค์ดำ) มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง คือ พักต์รูปเหลี่ยมขนงต่อกันดูคล้ายรูปปีกกา โอษฐ์หนา นลาฎกว้าง มีขอบไรศก เม็ดศกเล็ก รัศมีรูปดอกบักตูม ประทับขับสมาธิราบ (คือ ประทับนั่งขัดพระเพลา โดยเป็นฝ่าพระบาทหงายขึ้นเพียงข้างเดียว) พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย คือ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายที่หน้าเพลา (หน้าตัก) พระหัตถ์ขวาวางพาดที่ชงฆ์ (เข่า) ทรงครองจีวรเฉียง ชายจีวร(สังฆาฏิ)เป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรง “หลวงพ่อดำ” ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดลาดสิงห์ เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรี และประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ด้านหน้าอุโบสถมีสระน้ำเก่าแก่ขนาดใหญ่ ซึ่งมีเรื่องชาวบ้านเชื่อและเล่าสืบทอดกันมาว่าในสระน้ำมีระฆังขนาดใหญ่อย่าภายใต้สระและมีคำจารึกอยู่บนระฆังใบนั้นด้วย
2.พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา
พระครูศาสนกิจจาภรณ์ เจ้าคณะตำบลบ้านสระ (ชั้นเอก) เจ้าอาวาสวัดลาดสิงห์รูปปัจจุบัน ได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนคนไทยทั้งจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดพิษณุโลก อันเป็นถิ่นพระราชสมภพของทั้งสามพระองค์ โดยมีพระครูสุวิธานศาสนกิจ (ไพรินทร์) ผศ.ดร.สมบัติ นพรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย อาจารย์ไพโรจน์ เทพวัลย์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ได้ร่วมกันจัดหาทุนก่อสร้างพระบรมรูปขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยาให้เป็นเยี่ยงอย่างของชาวไทยในด้านความเสียสละ ความกล้าหาญ ความรักชาติรักแผ่นดิน โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้สร้างพระบรมรูปจำลองขนาดเท่าองค์จริงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยาขึ้น ปั้นหล่อโดยอาจารย์ธวัชชัย ศรีสมเพ็ชร มีนายกรนก บุญโพธิ์เกิด นายชิด ประสงค์ จากกรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมและให้คำปรึกษา ซึ่งการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระแท่นที่ประดิษฐานพระบรมรูปได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดยมีนายอำนวย ยอดเพชร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธี และได้ทำการตกแต่งภูมิทัศน์รอบพระบรมรูปให้สวยงามสมพระเกียรติ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท
3. พุทธเจดีย์ พระพุทธนเรศวรเมตตาพระพุทธกัลยามิ่งมงคล
คณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างโดยการนำของพลเอกอู้ด เบื้องบน ปลัดกระทรวงกลาโหม และพลตรีหญิงวรนุช เบื้องบน ได้ดำเนินการจัดสร้างพุทธเจดีย์พระพุทธนเรศวรเมตตา พระพุทธกัลยามิ่งมงคล บริเวณวัดลาดสิงห์ ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแต่พระสุพรรณกัลยาพระพี่นาง หลังจากทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชา
พระพุทธนเรศวรเมตตา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๐๙ นิ้ว สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระพุทธกัลยามิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานพร (ทรงเครื่อง) สร้างถวายเป็นอนุสรณ์แด่พระสุพรรณกัลยา โดยพิธีบวงสรวงและวางศิลาฤกษ์พระพุทธรูป ทั้ง 2 องค์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ และทำพิธีฉลองเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ส่วนเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม ลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ยุทธหัตถี โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดฐานกว้าง ๗.๑๐ เมตร สูง ๑๒.๕๐ เมตร ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๖ และได้พระราชทานนามเจดีย์นี้ว่า พุทธเจดีย์ โดยมีพิธีสมโภชพุทธเจดีย์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖